หน้าแรก Home feature 4 วิธีการสำคัญ ในการกำจัด “คอขวด” บนเครือข่ายของคุณ

4 วิธีการสำคัญ ในการกำจัด “คอขวด” บนเครือข่ายของคุณ

แบ่งปัน
Image credit : thewpcrowd.com

เมื่อพูดถึงคอขวดที่จำกัดความเร็วและประสิทธิภาพบนเครือข่ายแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมักใช้เทคนิคซ้ำๆ และจำเจมาจัดการไม่ว่าจะเป็น การลงทุนเพิ่มทรูพุตของลิงค์ต่างๆ โดยตรง, มัดทรูพุตของหลายลิงค์กายภาพเข้าเป็นลิงค์เดียวกันหรือ Channeling, หรือแม้แต่การใช้ฟีเจอร์จัดความสำคัญของทราฟิกหรือ QoS

แต่สำหรับโลกยุคใหม่ปี 2560 นี้ เรามีเทคโนโลยีและเคล็ดลับจัดการที่ดูสร้างสรรค์กว่าแบบเจ้าคุณปู่ข้างต้นอีกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น

1. การแบ่งโหลด หรือทำ Load Balancing

โดยแทนที่จะตั้งค่าลิงค์สำรองเป็นแบบ active/standby ง่ายๆ ก็จงหันมาแบ่งโหลดให้ทั่วถึงทุกลิงค์สำรอง เพื่อให้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด หรือโดยเฉพาะการใช้โปรโตคอลเราท์ติ้งที่แบ่งโหลดกระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Border Gateway Protocol สำหรับเครือข่ายขององค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น

2. ทำ WAN Optimization และ SD-WAN

ปกติ WAN ขององค์กรทั่วไป มักเป็นการเช่าลิงค์หรือลีดส์ไลน์จากผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขอเพิ่มทรูพุตของลิงค์ที่เช่าโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแพงๆ แบบไม่ค่อยคุ้มเท่าที่ควร แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยยกระดับทรูพุตโดยไม่ต้องเช่าลีดไลน์แพงขึ้นสองตัว จะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้น คุ้มค่าประหยัดเงินเป็นอย่างมาก ได้แก่ WAN Optimization ที่ใช้แอพพลายแอนซ์พิเศษติดตั้งสองฝั่งทั้งต้นทางและปลายทางของลิงค์ เพื่อระดมใช้สารพัดฟีเจอร์ทางซอฟต์แวร์ในการรีดเร้นประสิทธิภาพของลิงค์เดิมให้มากที่สุด ทั้งอัดข้อมูล, ทำแคช, ทำซ้ำข้อมูล, และจัดลำดับทราฟิก

network connect

กับอีกเทคโนโลยีอย่าง SD-WAN ที่เป็นการสร้างลำดับชั้นทางซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการเชื่อมต่อทางกายภาพแบบอัจฉริยะ ไม่ว่าลิงค์กายภาพจะเป็นลีดส์ไลน์, MPLS, ลิงค์ VPN หรือจะใช้ปนกันมั่วยังไงก็ตาม SD-WAN ก็จะจัดถีบส่งข้อมูลไปยังปลายทางบนเส้นทางที่วิเคราะห์แล้วว่าดีที่สุด ปราศจากคอขวด

3. ใช้ฟีเจอร์ Virtual Port Channel (vPC)

เป็นเทคโนโลยีการควบรวมลิงค์กายภาพหลายลิงค์ร่วมกันให้เป็นลิงค์เวอร์ช่วลขนาดใหญ่เดียวกัน หรือเป็นการทำ Channeling ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ ที่ยังใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่การทำแชนแนลลิ่งแบบเดิมนี้มักมีปัญหาหนักอกตอนที่คุณอยากเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อปลายทางอีกตัวหนึ่งไว้สำรองการทำงาน ที่มักใช้ฟีเจอร์อย่าง Spanning Tree Protocol หรือ STP มาสลับลิงค์ให้อัตโนมัติ เมื่อลิงค์เดิมเน่า ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มักจะเน่าเองอยู่บ่อยๆ จนต้องจุดธูปบนบานกันเลยทีเดียว แต่ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีใหม่อย่าง vPC ที่ไม่ต้องพึ่งตัวช่วยรุ่นโบราณอย่าง STP อีกต่อไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับ Virtual Chassis ที่รวมเอาทุกลิงค์มาเป็นพอร์ตแชนแนลแบบเวอร์ช่วล โดยนอกจากจะช่วยสำรองการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังกระจายทรูพุตให้ใช้ทรัพยากรทุกลิงค์พร้อมกันได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย

4. หันมาใช้สถาปัตยกรรมแบบ Leaf-Spine 

เนื่องด้วยสาเหตุของคอขวดบีบความเร็วของเครือข่ายดาต้าเซ็นเตอร์ในปัจจุบันมาจากการใช้เทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดทราฟิกไหลทั่วทุกส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์อย่างมหาศาล ถ้าไปทนกับการใช้รูปแบบการแบ่งโครงสร้างเครือข่ายแบบเก่า ที่ออกแบบสำหรับเซิร์ฟเวอร์แบบฮาร์ดแวร์เดิมๆ ย่อมเป็นอุปสรรคในการกำจัดคอขวดลักษณะนี้เป็นอย่างมาก ถึงเวลาอันสมควรที่ขยับหนีจากการการออกแบบเครือข่ายแบบ Three-Tier มาเป็นแบบ Leaf-Spine แทน ที่เน้นการเชื่อมต่อแบบร่างแหหรือ Full Mesh ระหว่างดาต้าเซ็นเตอร์ในลำดับชั้น Access (แทนใบไม้) กับลำดับชั้นแกนกลาง (แทนลำต้น) เพื่อให้ทุกโหนดในชั้น Access วิ่งเข้าสู่แกนกลางด้วยจำนวน Hop หรือระยะทางเท่าๆ กันแทน

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/data-centers/4-ways-ease-network-bottlenecks/1238515892