หน้าแรก Internet of Things หลัก 10 ประการ เพื่อดัน IoT ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

หลัก 10 ประการ เพื่อดัน IoT ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

แบ่งปัน

อดีตผู้บริหารอเมซอนอย่าง John Rossman ได้แต่งหนังสือชื่อ “The Amazon Way on IoT” ที่อธิบายถึงการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ประโยชน์แบบบูรณาการ ทั้งด้านเซ็นเซอร์, การเชื่อมต่อ, สตอเรจบนคลาวด์, การประมวลผลและวิเคราะห์, รวมถึงกลไกการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือ Machine Learning ให้สามารถตอบสนองความต้องการที่จำเพาะของแต่ละองค์กรได้มากที่สุด

โรสแมนกล่าวว่า “เราควรมอง IoT แยกเป็นลำดับชั้นต่างๆ หรือเป็นองค์ประกอบแยกจากกัน เช่น เริ่มจากแนวคิดที่จะมองหาตัวเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์คอมพิวติงและระบบวิเคราะห์ข้อมูล ที่เปิดให้สามารถนำอุปกรณ์ที่มีความสามารถดังกล่าวไปตั้งในตำแหน่งของไซต์งานจริงได้ จากนั้นจึงค่อยมองหาตัวอย่างกรณีที่มีการนำการใช้งานลักษณะดังกล่าวที่ทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นกรณีระดับคอนซูเมอร์ หรือขึ้นมาเป็นระดับอุตสาหกรรมกับการดำเนินงานระหว่างกลุ่มธุรกิจด้วยกันก็ตาม

ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีตัวอย่างจริงที่เราสามารถศึกษาแนวทางมาประยุกต์กับกรณีของเราได้บ้าง จากนั้นขั้นตอนหรือลำดับชั้นที่สาม จึงมามองถึงโมเดลทางธุรกิจว่าจะพัฒนา, ปรับตัว, หรือเปลี่ยนแปลงจากการใช้ประโยชน์ หรือความสามารถที่เราได้รับเพิ่มขึ้นนี้อย่างไร”

การมองกลยุทธ์ IoT ควรมองเป็นภาพรวมทั้งหมด ไม่แยกเป็นขั้นตอนย่อยๆ โดยมองว่า IoT จะกระทบกับธุรกิจของคุณอย่างไร มองว่านักลงทุนและคู่แข่งจะมอง IoT เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้โรสแมนได้สรุป 10 หลักการพื้นฐานที่ควรพิจารณาในการทำกลยุทธ์เกี่ยวกับ IoT ดังต่อไปนี้

หลักการที่ 1: ทุ่มให้กับความรู้สึกในการใช้งานของลูกค้า
ถือเป็นหลักการแรกที่สำคัญที่สุด ที่ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าในทุกอย่างที่ทำ ในการทุ่มเทเอาใจใส่กับประสบการณ์ใช้งานที่ลูกค้า โดยเฉพาะการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้แก้ปัญหาของลูกค้าต่างๆ อุปกรณ์และเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำนวนมหาศาลนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า และเป็นเหตุผลหลักที่เราคิดจะลงทุนกับ IoT เนื่องจากผลลัพธ์ที่ได้เห็นเป็นตัวเงินชัดเจน รวมไปถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

หลักการที่ 2: อุดช่องโหว่ของประสบการณ์ใช้งานระหว่างแพลตฟอร์มและช่องทางการจำหน่าย
ในโลกของ IoT นั้น ลูกค้าจำเป็นต้องเข้าถึงคุณผ่านแพลตฟอร์มและอุปกรณ์สารพัดรูปแบบ ซึ่งคุณจำเป็นต้องให้ประสบการณ์ใช้งานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างความหลากหลายของแพลตฟอร์มเหล่านั้น ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุดในการยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าตามหลักการข้อแรกเลยทีเดียว

กุญแจสำคัญคือ ความต่อเนื่องของข้อมูล เช่น ถ้าลูกค้าติดต่อเรื่องปัญหาการใช้เครื่องดูดฝุ่น ฝ่ายบริการลูกค้าต้องมองเห็นตำแหน่งของเครื่องดูดฝุ่นและปัญหาที่เกิดในทันที หรือแม้แต่การที่ฝ่ายบริการลูกค้าเป็นผู้ติดต่อมายังลูกค้าเองในการเสนอแนวทางแก้ไขโดยไม่ต้องรอลูกค้าติดต่อมาก่อน

หลักการที่ 3: ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
IoT เปิดช่องให้คุณได้ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ คุณจะมีข้อมูลที่ใช้พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณก็จำเป็นต้องทำ

หลักการที่ 4: ไม่ใช่แค่ข้อมูล คุณต้องเอามาวิเคราะห์ด้วย
แน่นอนว่าคุณต้องเอาข้อมูลมหาศาลที่ได้รับจาก IoT มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดด้วย เช่น การทำโมเดล, กลไกการวิเคราะห์, หรืออัลกอริทึมที่ทำให้ได้มุมมองเชิงลึกที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

หลักการที่ 5: คิดการใหญ่เข้าไว้ แต่ให้เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ก่อน
อย่างที่เกริ่นตอนต้นว่าคุณควรมองเป็นภาพรวมที่ใหญ่ที่สุดในการวางรากฐานของกลยุทธ์ด้าน IoT แต่ในเชิงปฏิบัติ ให้นำภาพรวมดังกล่าวมาหั่นเป็นขั้นตอนและองค์ประกอบย่อยๆ ที่เปิดโอกาสให้คุณได้ล้มเหลวบ้างโดยไม่เสียหายมากนัก เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์และบทเรียนล้ำค่ามาพัฒนาแนวทางของ IoT ต่อไป

หลักการที่ 6: นำ IoT มาเป็นแพลตฟอร์มของทั้งบริษัท
ด้วยการทำเป็นโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริษัทอื่นๆ ร่วมกันสร้างและพัฒนาตัวเอง สร้างความแข็งแกร่งและความได้เปรียบในการแข่งขัน ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของคุณด้วยเช่นกัน อันได้แก่การใช้แพลตฟอร์มร่วมกับบริษัทอื่นเพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และร่วมกันพัฒนาบริการสำหรับลูกค้าของแต่ละบริษัท

หลักการที่ 7: ใช้โมเดลธุรกิจที่เน้นผลลัพธ์ที่ได้
แม้การเน้นจำหน่ายสินค้าและบริการจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การนำ IoT มาใช้จะทำให้คุณก้าวนำหน้าไปกว่าแค่การจำหน่ายสินค้าเสียอีก โดยคุณสามารถจำหน่ายผลที่ได้จากสิ่งที่สินค้าหรือบริการทำให้เกิดขึ้นได้ นอกจากแค่ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ เพียงอย่างเดียว เช่น การให้การดูแลหลังการขาย การแสดงความรับผิดชอบในการใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของลูกค้า เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการจากสินค้าและบริการนั้นๆ จริง เป็นต้น

หลักการที่ 8: หาแนวทางร่วมคนละครึ่งทางระหว่างการทำเงินจากข้อมูล และการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
แน่นอนว่าข้อมูลมหาศาลที่ได้นั้นจะกลายเป็นแหล่งทำเงินมหาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะการนำข้อมูลมาจำหน่าย ซึ่งจะเป็นแนวทางการทำเงินของพวกบริการข้อมูลจากเธิร์ดปาร์ตี้และ API ทั้งหลาย นั่นคือ คุณมีข้อมูลที่เอามาทำเงินได้ในมือ ก็ไม่ควรจะให้ข้อมูลนิ่งแบบไม่เกิดประโยชน์ แต่ก็ต้องหาจุดร่วมที่ดีในการใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดโดยไม่กระทบกับปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว

หลักการที่ 9: เฝ้าพัฒนาห่วงโซ่ทางธุรกิจ ด้วยการมองหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อยู่เสมอ
IoT ถือเป็นกุญแจสู่นวัตกรรมใหม่มากมาย ซึ่งห่วงโซ่ทางธุรกิจหรือ Value Chain ถือเป็นกระบวนการและกิจกรรมของทั้งธุรกิจที่ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ การเรียนรู้ห่วงโซ่นี้ ทั้งขาไปและขากลับ รวมถึงประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าที่มีปัญหา และรายจ่ายในจุดต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ทำให้คุณสามารถปรับปรุงพัฒนาตลอดห่วงโซ่ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

หลักการที่ 10: ถ้าใช้ IoT ต้องทำให้ธุรกิจคุณโตแบบก้าวกระโดดให้ได้สุดท้ายสิ่งที่คุณได้จาก IoT คือการทำให้คุณมองเห็นปัจจัยที่จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เมื่อคุณเข้าใจถึงภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของคุณที่ผ่านมาอย่างถ่องแท้แล้ว คุณจะมองเห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงทางธุรกิจที่จะผลักดันตัวเองอย่างก้าวกระโดดได้ คำแนะนำสุดท้ายจึงหมายถึง คุณต้องคว้าประโยชน์จาก IoT ให้ถึงจุดนี้ให้ได้ในที่สุด

ที่มา : http://www.networkworld.com/article/3162771/internet-of-things/10-principles-of-a-successful-iot-strategy.html