หน้าแรก Networking & Wireless 6 เครื่องมือ Troubleshooting Network เบื้องต้น ที่แอดมินฯ ควรมีติดตัวไว้

6 เครื่องมือ Troubleshooting Network เบื้องต้น ที่แอดมินฯ ควรมีติดตัวไว้

แบ่งปัน
network admin
Image credit : herzing.ca

ด้วยเน็ตเวิร์กปัจจุบันที่ต้องตอบสนองความต้องการชนิดเรียลไทม์ ทำให้ดีเลย์, เวลาหน่วง, หรือสัญญาณรบกวนต่างๆ อาจเป็นสาเหตุของปัญหาใหญ่ในการบริการได้ ดังนั้นการสืบหาต้นตอสาเหตุนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และมักใช้เครื่องมือหลายตัวร่วมกัน

ทั้งนี้ NetworkComputing.com ได้สรุปวิธีหาสาเหตุของตัวหน่วงประสิทธิภาพเครือข่ายไว้อย่างง่ายๆ สามขั้นตอน ตั้งแต่การยืนยันและตรวจสอบระดับความหน่วงหรือดีเลย์ที่เป็นปัญหา จากนั้นจึงจำกัดพื้นที่ค้นหาที่เกิดการหน่วงของข้อมูลดังกล่าว และสุดท้ายจึงค่อยตรวจหา ระบุ และกำจัดต้นตอปัญหาดังกล่าว ซึ่งเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยปัญหาเครือข่ายที่มีมาตั้งแต่รุ่นคุณยายยังโสดทั้ง 6 ตัวต่อไปนี้ก็ยังช่วยชีวิตคุณได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น

• Ping ทูลที่แม้แต่เด็กประถมผู้คร่ำหวอดกับเกมออนไลน์บางคนนิยมใช้กันแบบไม่บันยะบันยัง นอกจากใช้เช็คการเชื่อมต่อยังปลายทางที่ต้องการได้แล้ว ยังเช็คเวลาที่ใช้ในการส่งข้อมูลไปกลับได้ด้วย ซึ่งใช้ตีความเป็นระดับความหน่วงบนเครือข่าย หรือใช้คอนเฟิร์มว่ามีดีเลย์ที่จุดใดหรือส่วนไหนบนเครือข่ายได้เป็นอย่างดี

• Traceroute ญาติสนิทของคุณปิง ให้ข้อมูลการเดินทางของทราฟิกไปกลับจากปลายทางที่ต้องการได้เช่นเดียวกัน แต่ให้ข้อมูลได้ละเอียดจากเครือข่ายทุกวงที่อยู่ระหว่างทาง หรือ Hop-by-Hop จึงมีประโยชน์มากกับเครือข่ายในองค์กรที่มีการแบ่งส่วนเครือข่ายมากมายหลายวีแลนเต็มไปหมด ซึ่งคุณจะทราบถึงเส้นทางที่แพ๊กเก็ตข้อมูลจากต้นทางเลือกใช้ไปยังปลายทางได้จากรายการอุปกรณ์ที่ถูกส่งข้อมูลกลับมา รวมไปถึงจำนวนเราเตอร์หรือ Hop ที่ต้องกระโดดข้ามไปยังปลายทาง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าต้องกระโดดข้ามเครือข่ายโน่นนี่นั่นมากเกินไป ก็ย่อมเป็นสาเหตุหลักของอาการดีเลย์ด้วยเช่นกัน

• SNMP เป็นโปรโตคอลยอดนิยมที่ใช้เช็คสถานะต่างๆ ของอุปกรณ์เครือข่าย โดยเฉพาะสถานะของอินเทอร์เฟซต่างๆ รวมไปถึงอัตราการใช้ประโยชน์ของแต่ละลิงค์ด้วย ทำให้เราเอามาตีความหาจุดที่เกิดคอขวดของทราฟิกได้ นอกจากนี้ยังใช้ตรวจหาความผิดปกติหรืออาการเสื่อมสภาพของฮาร์ดแวร์ อย่างเช่นซีพียูบนสวิตช์ ที่มีผลต่อการฟอร์เวิร์ดแพ็กเก็ตได้อีกด้วย

NetFlow ทูลชั้นสูงขึ้นมาระดับประถมปลายหน่อยๆ ไว้สำหรับตรวจข้อมูลทราฟิกที่ละเอียดขึ้นอย่างเช่น การโดนทราฟิกสตรีมมิ่งอย่างยูทูปหรือ Netflix มาแย่งแบนด์วิธ หรือการเกิดพฤติกรรมที่ดูเป็นอันตรายอย่าง DDoS ซึ่ง NetFlow จะสามารถจัดประเภทของข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่ายให้เราเห็นได้ชัดเจน ให้เช็คได้ว่าทราฟิกข้อมูลที่สำคัญต่อธุรกิจกำลังโดนทราฟิกอื่นที่ไม่จำเป็นรบกวนมากน้อยขนาดไหน

Protocol Analyzer ถ้าทูลเบๆ ก่อนหน้านี้ไม่สามารถหาฆาตกรที่แท้จริงให้คุณได้ ก็อาจถึงตาทูลที่ต้องใช้ความรู้ระดับมัธยมต้นอย่างตัววิเคราะห์โปรโตคอลนี้ ที่สามารถวิเคราะห์รายละเอียดของแต่ละแพ็กเก็ต โดยเฉพาะข้อมูลบนเฮดเดอร์ Protocol Analyzer ยอดนิยมที่คนทำงานเน็ตเวิร์กถูกสอนให้ไปโหลดมาเล่นตั้งแต่วันแรกของการทำงานก็คือ Wireshark ซึ่งใช้ตรวจแต่ละแพ๊กเก็ตที่วิ่งผ่านอินเทอร์เฟซบนเครื่องตนเองว่ามาจากแอพไหน พอร์ตไหน ใช้โปรโตคอลอะไรบ้าง และจะวิ่งไปปลายทางที่ไหน โดยในปัจจุบันตัววิเคราะห์แพ็กเก็ตนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากแอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่หันมาใช้สถาปัตยกรรมแบบที่พึ่งการเชื่อมต่อกับสารพัดเซิร์ฟเวอร์ในการทำงาน หรือที่เรียกว่า Distributed Architecture นั่นคือ ถ้าผู้ใช้ฟ้องว่า การใช้งานบนแอพหนึ่งเริ่มช้าลง ก็สามารถใช้ทูลนี้ในการหาต้นตอการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์เจ้าปัญหาได้ เป็นต้น

Application Performance Monitoring ถ้าคุณหมดหวังกับทูล 5 ตัวที่กล่าวไปแล้ว อย่างน้อยก็สรุปเบื้องต้นได้ว่า สาเหตุของความเชื่องช้าระดับหอยทากหน้าร้อนนี้ไม่น่าจะมาจากเครือข่าย แต่เป็นเพราะตัวแอพพลิเคชั่นเอง ซึ่งต้องพึ่งเครื่องมืออันดับที่หกระดับมหาวิทยาลัยอย่างตัวตรวจสอบประสิทธิภาพแอพพลิเคชั่น เช่น ถ้าแอพพลิเคชั่นมีการส่งต่อข้อมูลไปยังระบบฐานข้อมูลแล้ว ดีเลย์ที่เกิดขึ้นอาจมาจากระบบฐานข้อมูลที่ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ในช่วงพีค

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/networking/troubleshooting-network-latency-6-tools/242797888