หน้าแรก Data Center 10 เหตุผล ที่ระบบเมนเฟรมยังคงใช้งานอยู่ใน ดาต้าเซ็นเตอร์

10 เหตุผล ที่ระบบเมนเฟรมยังคงใช้งานอยู่ใน ดาต้าเซ็นเตอร์

แบ่งปัน

ยังมีอีกหลายบริษัททั่วโลกนี้ที่ยังพึ่งพาเมนเฟรมในการประมวลผลงานที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ซึ่งหลังจากกระแสคลาวด์คอมพิวติงเข้ามาแย่งตลาดเซิร์ฟเวอร์หรือดาต้าเซ็นเตอร์อย่างหนักนั้น ทำให้คนในวงการไอทีมากมายแอบคิดว่าวันที่รุ่งเรืองที่สุดของคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมกลายเป็นอดีตไปแล้ว

แต่จากการศึกษาล่าสุดของผู้ให้บริการโซลูชั่นไอทีระดับองค์กรอย่าง BMC กลับชี้ชัดว่า เครื่องเมนเฟรมยังคงครองตลาดได้ไปอีกหลายปี โดยจากการสำรวจผู้บริหารด้านไอทีและธุรกิจต่างๆ มากกว่า 1,000 ราย พบว่าส่วนใหญ่มองภาพเมนเฟรมเป็น “สิ่งที่ยั่งยืน” และโลกทางธุรกิจยังคงต้องพึ่งเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการทั่วไปขององค์กรได้อย่างครอบคลุม

และที่สำคัญที่สุด พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะทำงานร่วมกับเมนเฟรมมากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญของรายงานวิจัยของ BMC มีดังต่อไปนี้

1. การมีคุณค่าระยะยาว
BMC พบว่า ผู้บริหารกว่า 91 เปอร์เซ็นต์ ยังไว้ใจและเชื่อมั่นในความยั่งยืน และอายุยืนยาวของระบบเมนเฟรม ขณะที่มี 47 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่าเมนเฟรมสามารถเติบโตและรองรับโหลดงานใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปีที่แล้วที่มีผู้เห็นด้วยที่ 42 เปอร์เซ็นต์

2. ความเร็วการประมวลผลที่ไวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยวัดในหน่วยล้านคำสั่งต่อวินาที หรือ MIPS ซึ่งจากผลสำรวจของ BMC นั้น พบว่า 48 เปอร์เซ็นต์เห็นการอัพเกรดจนได้ MIPS ที่โตมากขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่สำรวจมองเห็น MIPS ของตัวเองว่าต้องเติบโตขึ้นไปอีกในปีหน้า

3. การลดค่าใช้จ่ายจะกลายเป็นหัวใจหลักของระบบเมนเฟรม
จากผลสำรวจพบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนส่วนใหญ่คาดหวังจากเมนเฟรมในปี 2561 คือ “การลดต้นทุน” และ “การใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด” ซึ่งกว่าสองในสามของผู้ที่สำรวจกล่าวว่า เรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งในการใช้งานเมนเฟรมในปีหน้า

4. ประเด็นสำคัญถัดมาได้แก่ความปลอดภัยของข้อมูล และความพร้อมในการให้บริการแอพพลิเคชั่น
BMC พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่สำรวจได้จัดให้เรื่องของความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้นๆ ในการใช้งานเมนเฟรม ตามมาติดๆ ด้วยเรื่องของ “ความพร้อมในการให้บริการแอพพลิเคชั่น” และ “การปรับแต่งแอพพลิเคชั่นให้ทันสมัย” ซึ่งทั้งสองหัวข้อได้รับเสียงโหวตคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ โดยมีแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่าเรื่องของการหาเอาต์ซอร์สเป็นเรื่องที่สำคัญของตน

5. ปริมาณข้อมูล และการเข้าออกของข้อมูลสูงขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับข้อมูลที่จัดการผ่านเมนเฟรมได้เพิ่มปริมาณมากกว่าปีก่อนหน้า สำหรับผู้ที่สำรวจกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ โดยมี 34 เปอร์เซ็นต์ที่ปริมาณข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ที่กล่าวว่าข้อมูลที่ประมวลผลมีปริมาณลดลง

6. เรื่องของการโหลดงาน
สำหรับเรื่องโหลดพีคสูงกะทันหันนั้น พบว่า 46 เปอร์เซ็นเตอร์นั้น เคยเจอเหตุการณ์ที่โหลดงานพุ่งสูงอย่างกระทันหันในรอบปีที่ผ่านมา ขณะที่ 42 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าว และมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ที่กล่าวว่าจำนวนครั้งของโหลดพีคได้ลดลง

7. การลงทุนต่อเนื่อง
หลายองค์กรกำลังลงทุนพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อตามเทคโนโลยีของเมนเฟรมให้ทัน โดยมีกว่า 39 เปอร์เซ็นต์กำลังลงทุนด้านการอบรมพนักงาน ขณะที่ 22 เปอร์เซ็นต์แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการดึงโหลดงานบางส่วนออกจากเมนเฟรม

8. ช่วงอายุของคนที่ใช้งานเมนเฟรม
แม้ภายนอกจะมองว่าเมนเฟรมเป็นเรื่องของคนแก่และล้าหลัง แต่กว่า 53 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำงานร่วมกับเมนเฟรมกลับมีอายุต่ำกว่า 50 ทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่กว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่สำรวจจะอยู่ในช่วงอายุ 30 – 49 ปี

9. เจนวายต่างก็ชื่นชอบเมนเฟรม
สำหรับกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีนั้น กว่า 54 เปอร์เซ็นต์มองว่าเมนเฟรมจะได้รับความนิยมในองค์กรเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า

10. ราคายังเป็นปัจจัย
อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมนเฟรมจากผู้ที่สำรวจกว่าครึ่ง พบว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องสะดุดในการเอื้อมถึงเมนเฟรมคือ ราคาซอฟต์แวร์ของ IBM ขณะที่ 44 เปอร์เซ็นต์มองว่าปัญหาใหญ่สุดกลับเป็นราคาของฮาร์ดแวร์ นอกจากนั้นยังมองถึงเรื่องการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะเพียงพอด้วย

ที่มา : http://www.eweek.com/servers/10-reasons-why-mainframes-are-still-at-work-in-enterprise-data-centers