หน้าแรก Data Center ทำความรู้จัก NAS : ทำไมต้องใช้และจะดึงประโยชน์จากมันได้อย่างไร?

ทำความรู้จัก NAS : ทำไมต้องใช้และจะดึงประโยชน์จากมันได้อย่างไร?

แบ่งปัน

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหลายต่อหลายแห่งนั้น อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการมีเซิร์ฟเวอร์บนเครือข่ายตัวเองก็คือ การที่คุณมักต้องลงมือจัดการมันด้วยตัวเอง แม้อาจจะไม่จำเป็นต้องจ้างเจ้าหน้าที่ไอทีอยู่ประจำ แต่คุณก็ยังต้องมีพนักงานหรือที่ปรึกษาที่ช่วยให้มั่นใจว่าติดตั้งระบบได้ถูกต้อง มีการอัพเดทซอฟต์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์ครบถ้วน ดูการเพิ่มและเอารายชื่อผู้ใช้ออก คอยสำรองข้อมูลต่างๆ และงานที่ต้องทำเป็นประจำอีกมากมาย เรียกว่าทำให้ต้องชั่งใจระหว่างประโยชน์ของการมีสตอเรจสำหรับแชร์ไฟล์และข้อมูล กับการบำรุงรักษาและคอยดูแลเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้เลยทีเดียว

ในทางกลับกัน ลองนึกภาพว่าถ้าเราไม่จำเป็นต้องคอยจัดการเรื่องจิปาถะพวกนี้แล้ว? เพียงแค่เอาเซิร์ฟเวอร์ “สำเร็จรูป” ที่ได้มาออกจากกล่อง จับเสียบปลั๊ก เสียบสายแลน เปิดเครื่อง แค่นี้ก็ได้เซิร์ฟเวอร์ที่เปรียบเหมือนสตอเรจกลางของสำนักงาน

อยากจะบอกว่าอุปกรณ์ที่เรียกว่า Network Attached Storage หรือ NAS สำหรับผู้ใช้ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กก็มักนำมาใช้งานได้ง่ายๆ แบบนี้

แล้ว NAS คืออะไร
สตอเรจที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กนี้เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้จัดเก็บไฟล์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ NASแบบไหนก็ตาม ขั้นตอนการนำเข้ามาเชื่อมต่อบนเครือข่ายของบริษัทคุณก็ควรทำได้ง่ายอย่างที่อธิบายไปข้างต้น อย่างไรก็ดีในตลาดก็มีอุปกรณ์ NAS หลากหลายแบบ ที่มีความซับซ้อนอยู่หลายระดับด้วยเช่นกัน

เซิร์ฟเวอร์ NAS โดยทั่วไปจะเป็นกล่องที่มีไดรฟ์เก็บข้อมูลอยู่ภายใน เป็นคอมพิวเตอร์ในตัวที่มีซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับจัดการสตอเรจ มาพร้อมอินเทอร์เฟซสำหรับเชื่อมต่อกับเครือข่าย โดยไม่ได้มีคีย์บอร์ดหรือหน้าจอมาให้ด้วย จึงเข้าจัดการอุปกรณ์ได้ผ่านการรีโมทเท่านั้น เมื่อนำกล่อง NAS มาเชื่อมต่อและเปิดเครื่องแล้ว ก็แค่เปิดคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่อยู่บนเครือข่ายเดียวกัน แล้วเปิดบราวเซอร์หาหน้าเว็บที่ใช้จัดการอุปกรณ์ (ซึ่งในกล่องที่บรรจุ NAS ควรมีคู่มืออธิบายขั้นตอนการทำเหล่านี้มาให้ด้วย)

WD My Cloud PR4100 WDBNFA0320KBK – NAS server – 32 TB

วิธีใช้งาน NAS ของคุณ
ขั้นตอนแรกสุดในการตั้งค่าอุปกรณ์ NAS ก็คือ การตั้งชื่อให้มันเพื่อที่พนักงานทั้งหลายจะสามารถค้นหาได้ง่าย จากนั้นจึงตั้งชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านระดับแอดมิน ซึ่งสำหรับอุปกรณ์ NAS บางตัวอาจถามถึงรูปแบบการตั้งค่าของสตอเรจ โดยให้คุณเลือกระหว่าง RAID 0, 1, หรือ 5 สำหรับการใช้งานทางธุรกิจแล้ว เรามักเลือกที่จะใช้งานแบบ RAID 5 (หรือ 6 ในอุปกรณ์บางรุ่น) เพื่อให้สามารถกู้คืนระบบกรณีที่ฮาร์ดดิสก์ภายในเกิดเสียขึ้นมาได้

ระหว่างที่รออุปกรณ์ NAS ตั้งค่าตัวเองเริ่มต้นนั้น คุณอาจจะใช้เวลานี้รวบรวมรายชื่อพนักงานที่จะใช้งานไฟล์เซิร์ฟเวอร์ โดย NAS บางรุ่นสามารถอำนวยความสะดวกให้คุณแค่ส่งอีเมลที่มีขั้นตอนการล็อกอินไปยังผู้ใช้ที่ต้องการ หรืออาจใช้วิธีสร้างรายชื่อบนอุปกรณ์ NAS แล้วแจ้งรหัสล็อกอินให้ผู้ใช้แต่ละรายทีหลังก็ได้

อุปกรณ์ NAS ส่วนใหญ่จะสร้างพื้นที่สตอเรจสำหรับใช้งานร่วมกัน พร้อมกับสร้างพื้นที่สตอเรจเฉพาะสำหรับผู้ใช้แต่ละรายด้วย เมื่อตั้งค่าทุกอย่างเสร็จ คุณก็พร้อมใช้งาน NAS แล้ว แต่จริงๆ ยังมีงานเพิ่มเติมอีกหลายอย่างที่คุณอาจพิจารณาเลือกทำได้

Dell PowerVault NX440

ตัวอย่างเช่น การเปิดใช้ฟีเจอร์แบ๊กอัพขึ้นคลาวด์จากภายนอก (Off-site Cloud Backup) เนื่องจากบางครั้งพนักงานบันทึกไฟล์สำคัญบนเซิร์ฟเวอร์ NAS แต่ก็ทำให้ใช้งานได้แค่คอมพิวเตอร์เครื่องต่างๆ ที่อยู่ในออฟฟิศเดียวกันเท่านั้น ความสามารถในการแบ๊กอัพผ่านคลาวด์จึงเข้ามาทั้งอำนวยความสะดวก และสร้างความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอุปกรณ์ NAS ส่วนใหญ่ต่างรองรับกันแล้ว

ประการต่อมา คุณอาจต้องการที่จะจำกัดขนาดพื้นที่บน NAS ให้ผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งสามารถทำได้ผ่านซอฟต์แวร์จัดการ NAS บนเซิร์ฟเวอร์ สำหรับเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ก็แน่นอนอยู่แล้วว่า สมมติบริษัทคุณมีพนักงานถึง 50 คน และเซิร์ฟเวอร์ที่มีพื้นที่สตอเรจอยู่ 32 เทอราไบต์แล้ว เท่ากับว่าพนักงานแต่ละคนจะได้พื้นที่เก็บไฟล์กลางเฉลี่ยแค่คนละครึ่งเทอราไบต์เท่านั้น ซึ่งบางทีก็อาจน้อยกว่าเนื้อที่เก็บไฟล์บนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของแต่ละคนเสียอีก ที่ทำให้มีแนวโน้มในการแย่งชิงพื้นที่สตอเรจกลางเกินโควตากัน

ประการที่สาม ขึ้นกับว่าคุณให้ความสำคัญกับการเปิดให้พนักงานใช้ NAS เป็นที่สำรองข้อมูลส่วนตัวขนาดไหน อุปกรณ์ NAS บางรุ่นมาพร้อมกับซอฟต์แวร์แบ๊กอัพข้อมูลสำหรับไคลเอนต์ด้วย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างมาก แต่คุณก็จำเป็นต้องตั้งค่าให้มั่นใจว่าจะสำรองเฉพาะไฟล์ข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ไฟล์งานที่ต้องใช้ประจำวัน โดยไม่อนุญาตให้จัดเก็บภาพหรือไฟล์มีเดียส่วนตัวอื่นที่ไม่จำเป็นบน NAS ส่วนกลาง

สุดท้าย อย่าลืมสร้างบัญชีผู้ใช้ระดับแอดมินให้คนของคุณที่ไว้ใจได้อีกคนสำรองไว้ด้วย เผื่อเวลาฉุกเฉิน เวลาที่คุณหยุดพักร้อน จะได้ไม่ต้องคอยตอบคำถามซัพพอร์ตผู้ใช้ NAS เองคนเดียวให้กวนใจ

ในมุมมองของผู้ใช้ของคุณแล้ว อุปกรณ์ NAS ก็เหมือนกับดิสก์ไดรฟ์หรือไฟล์เซิร์ฟเวอร์อีกตัวที่สามารถเข้าถึงได้จาก Windows Explorer ปกติ ส่วนแอดมินก็ไม่ต้องเรียนรู้วิธีการดูแลที่ยากลำบากเกินไป ดังนั้นถ้ามองในมุมของกาขยายธุรกิจแล้ว การเลือกใช้อุปกรณ์ NAS เป็นสตอเรจส่วนกลางถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

บทความโดย ZDNet