หน้าแรก Cloud ไปดูความแตกต่างระหว่าง อินฟราสตรัคเจอร์แบบ Converged และ Hyperconverged

ไปดูความแตกต่างระหว่าง อินฟราสตรัคเจอร์แบบ Converged และ Hyperconverged

แบ่งปัน
hyperconverged

สมัยก่อน หน้าที่การผนวกรวมโครงสร้างพื้นฐานไอทีเข้าด้วยกันเป็นของทีมงานด้านไอทีแต่อย่างเดียว โดยผู้จำหน่ายให้แนวทางในการจัดการบ้างอะไรบ้าง

แต่ภาระทั้งหมดกลับตกอยู่กับฝ่ายไอที ไม่ว่าจะเป็นการมานั่งประเมินผู้จำหน่าย, ตรวจความเข้ากันได้กับกฎและมาตรฐานต่างๆ, หรือแม้แต่งานธุรการอย่างการเดินเรื่องจัดซื้อ รวมถึงการติดตั้งเองครบทุกขั้นตอน จนกระทั่งมีพระเอกเข้ามาในชื่อ Converged และ Hyperconverged

โครงสร้างพื้นฐานทั้งสองแบบต่างช่วยแบ่งเบาภาระในการผนวกรวมทรัพยากรด้านไอทีเข้าด้วยกัน โดยผู้จำหน่ายทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สามารถจัดสรรผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามพฤติกรรมและประสิทธิภาพการใช้งานที่ต้องการได้ รวมถึงบอกวิธีการตั้งค่า เหมือนบอกข้อสอบให้ฝ่ายไอทีเสร็จสรรพ

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ โครงสร้างแบบ Converged จะเป็นการออกแบบทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนส่งไปบิวท์ที่ฝั่งลูกค้าเหมือนมาม่าสำเร็จรูป เปิดกล่องเสียบปลั๊กปุ๊บจบ ส่วน Hyperconverged จะทำให้ไอทีแฮปปี้กว่านั้น ด้วยการรวบทรัพยากรไอทีเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแน่นแฟ้นมากกว่า ผ่านกลไกทางซอฟต์แวร์ โดยไม่ต้องมายุ่งวุ่นวายเรื่องต่อสายสลับไปมาทางกายภาพอีก นั่นคือ เป็นการนำเทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่นมาจัดสรรทรัพยากรให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างยืดหยุ่น เพียงกระดิกนิ้วคลิก

1) ประเด็นเรื่องระบบสตอเรจ
Converged อาจใช้แต่สตอเรจดั้งเดิมอย่าง NAS หรือ Fiber Channel SAN เท่านั้น แต่ Hyperconverged จะใช้สตอเรจได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยความจำแบบแฟลชหรือแม้แต่ฮาร์ดดิสก์ปกติ โดยรวมทุกอย่างเป็นพูลเดียวกัน ควบคุมผ่านซอฟต์แวร์ ซึ่งจะได้เปรียบกว่า Converged ในด้านการปรับเปลี่ยนขนาดระบบได้ดังใจนึก หรือ Scale-out

2) เรื่องของการใช้ Software-defined 
ซอฟต์แวร์กลายมาเป็นกุญแจสำคัญของ Hyperconverged ที่ทำให้จัดสรรขนาดและทรัพยากรของแต่ละระบบได้อย่างรวดเร็วในลักษณะของ Scale-out Building Block โดยเฉพาะในด้านของสตอเรจ โดยไม่ต้องไปซื้อแพกเกจเซิร์ฟเวอร์สำเร็จรูปมาเปิดกล่องเสียบปลั๊กเพิ่มอย่างแบบ Converged ธรรมดา

storage

เราสามารถยกระดับกำลังการประมวลผลหรือความจุต่างๆ ได้โดยไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมทางกายภาพใดๆ ทุกอย่างถูกรวมและกำหนดผ่านซอฟต์แวร์เท่านั้น แม้จะมีชาวไอทีที่เกลียดการเปลี่ยนแปลงบางส่วนแย้งว่า การเอาซอฟต์แวร์มาควบคุม เป็นตัวกลางทุกอย่าง ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบลดลง แต่ทางผู้จำหน่ายต่างก็โฆษณาว่า ด้วยศักยภาพของฮาร์ดแวร์ปัจจุบันสามารถหักลบกลบหนี้จนแทบไม่กระทบเลย การใช้ซอฟต์แวร์คุมมีแต่คุ้มกับคุ้ม

3) เรื่องของการใช้งาน
เมื่อมาถึงจุดที่คุณต้องตัดสินใจนั้น ทางฝ่ายวิจัยของ ESG ได้รายงานผลสำรวจว่า องค์กรรักที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ Converged กับงานที่สำคัญมากแบบชี้เป็นชี้ตายองค์กรมากกว่า โดยมองไปที่ประสิทธิภาพ, ความน่าเชื่อถือ, และความสามารถในการปรับเปลี่ยนขนาดระบบตามลำดับ ขณะที่องค์กรที่อินเลิฟกับระบบ Hyperconverged จะชื่นชอบความเรียบง่ายและสะดวกสบายแบบวันสต็อปเซอร์วิสผ่านแพลตฟอร์มเดียว และนำมาใช้กับงานระดับกลางที่ไม่ได้สำคัญแบบวิกฤติ

ทั้งระบบ Converged และ Hyperconverged เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากจากการเห็นรุ่นพี่อย่างคลาวด์ในองค์กรที่เนรมิตการจัดสรรโหลดงานและทรัพยากรจากส่วนกลางได้ง่ายเหมือนตักเค้ก

แต่ถึงอย่างไรก็ดี เทคโนโลยีตระกูลโครงสร้างคอนเวอร์เจนต์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทั้งหมด ESG มองว่า ถึงแม้จะนับอีกห้าปีข้างหน้า ก็จะยังมีองค์กรมากกว่าครึ่งที่ขอยึดติดกับโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมๆ อยู่

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่เสียหายที่ฝ่ายไอทีจะลองศึกษาเทคโนโลยีใหม่นี้ดูนะครับ

ที่มา : http://www.networkcomputing.com/data-centers/converged-vs-hyperconverged-infrastructure-whats-difference/906893485